ประมาณ 255 ปีก่อนคริสต์กาล ในภูมิภาคแถบเอเชียตอนกลาง และจีน ได้รู้จักการแกะสลักดวงตราบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์และงาช้าง เพื่อใช้ประทับลงบนดินเหนียว บนขี้ผึ้งซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นต้นตอของแม่พิมพ์เลตเตอร์เพรส์ส(Letter press)โดยจะเห็นได้จากพงศาวดารจีนโบราณองค์จักรพรรดิ จะมีตราหยกเป็นตราประจำแผ่นดิน
    ค.ศ. 105 ชาวจีน ชื่อ ไซลั่น คิดวิธีทำกระดาษขึ้นมาได้ และได้กลายเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการเขียน และการพิมพ์ในเวลาต่อมา
ค.ศ. 175 ได้มีการใช้เทคนิคพิมพ์ถู (Rubbing) ขึ้นในประเทศจีน โดยมีการแกะสลักวิชาความรู้ไว้บนแผ่นหิน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้นำกระดาษมาวางทาบบนแผ่นหินแล้วใช้ถ่านหรือสีทาลงบนกระดาษ สีก็ติดบนกระดาษในส่วนที่หินนูนขึ้นมา เทคนิคนี้ดูจะเหมือนกับการถู ลอกภาพรามเกียรติ์ที่แกะสลักบนแผ่นหินอ่อนที่วัดโพธิ์ ในทุกวันนี้ (กำธร สถิรกุล, 2515 : 185)
    ในปี ค.ศ. 400 ชาวจีนรู้จักการทำหมึกแท่งขึ้นใช้ โดยใช้เม่าไฟเป็นเนื้อสี (Pingment) ผสมกาวเคี่ยวจากกระดูกสัตว์ หนังสัตว์ และเขาสัตว์ เป็นตัวยืด (Binder) แล้วทำให้แข็งเป็นแท่ง ชาวจีนเรียกว่า "บั๊ก" ต่อมาในราวปี ค.ศ. 450 การพิมพ์ด้วยหมึกบนกระดาษจึงเกิดขึ้นโดยใช้ตราจิ้มหมึก แล้วตีลงบนกระดาษ เช่นเดียวกับการประทับตรายางในปัจจุบัน (วัลลภ สวัสดิวัลลภ, 2527 : 82)

 
 
    สำหรับชิ้นงานพิมพ์ซึ่งเก่าแก่ที่สุด และยังคงหลงเหลืออยู่ได้แก่การพิมพ์โดยจักรพรรดินีโชโตกุ (Shotoku) แห่งประเทศญี่ปุ่น ในราว ค.ศ. 770 โดยพระองค์รับสั่งให้จัดพิมพ์คำสวดปัดรังควานขับไล่วิญญาณ หรือผีร้ายให้พ้นจากประเทศญี่ปุ่น และแจกจ่ายไปตามวัดทั่วอาณาจักรญี่ปุ่น เป็นจำนวนถึงหนึ่งล้านแผ่น ซึ่งต้องใช้เวลาตีพิมพ์ เป็นเวลาถึง 6 ปี (สนั่น ปัทมะทิน, 2513 : 121)
    จีนนิยมใช้เทคนิคการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์แกะไม้ และพัฒนาขึ้นตามลำดับ ในปี ค.ศ. 868 ได้มีการพิมพ์เป็นหนังสือเล่มแรกมีลักษณะเป็นม้วน มีความยาว 17 ฟุต กว้าง 10 นิ้ว โดยวาง เซียะ (Wang Chieh) ซึ่งยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบันหนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า วัชรสูตร (Diamond Sutra) (กำธร สถิรกุล, 2515 : 187)


    ประมาณปี ค.ศ. 1041-1049 การพิมพ์แบบแม่พิมพ์นูนได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจากเดิมที่ใช้การแกะไม้เป็นแม่พิมพ์ (เรียกว่า Block) แม่พิมพ์ดังกล่าวสามารถพิมพ์ได้เพียงรูปแบบเดียว มาเป็นการใช้แม่พิมพ์ชนิดที่หล่อขึ้นเป็นตัว ๆ และนำมาเรียงให้เป็นคำเป็นประโยค ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า "ตัวเรียงพิมพ์ (Movable Pype) เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว จะสามารถนำกลับไปเก็บ และสามารถนำมาผสมคำใหม่ในการพิมพ์ครั้งต่อ ๆ ไปได้ ผู้ที่ค้นพบวิธีการใหม่นี้เป็นชาวจีน ชื่อ ไป เซ็ง (Pi Sheng) โดยใช้ดินเหนียวปั้นให้แห้ง แล้วนำไปเผาไฟ
    การสร้างตัวเรียงพิมพ์โลหะ เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเกาหลีเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1241 ได้มีการหล่อตัวพิมพ์โลหะขึ้นเป็นจำนวนมากตามดำริของกษัตริย์ไทจง (Htai Tjong) (Lechene, 1974 : 1053


    วิวัฒนาการด้านการพิมพ์ของชาวตะวันออก (จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) นั้น แม้ว่าจะได้เป็นผู้บุกเบิกการพิมพ์เป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้พัฒนาการพิมพ์หนังสือให้เจริญจนถึงขีดสูงสุด (แต่กลับมีความเจริญด้านศิลปะภาพพิมพ์ไม้ในประเทศญี่ปุ่นในยุคหลัง) ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ดังนี้    
   
 
  การพิมพ์ของจีน ได้กระทำในวงแคบเนื่องจากมีผู้รู้หนังสือน้อย
เพราะมีภาษาที่ใช้แตกต่างกันหลายแบบในแต่ละภูมิภาค
     
  ตัวอักษรจีนเป็นอักษรประเภทหนังสือภาพ (Pictograph)
หมายถึงคำพูดหนึ่งคำ ก็ต้องมีตัวอักษรหนึ่งตัว จึงปรากฏว่า มีตัวอักษรเป็นจำนวนมากนับพันตัว ไม่สะดวกต่อการใช้ตัว เรียงพิมพ์แต่เหมาะที่จะใช้การแกะแม่พิมพ์ไม้ หรือการกัดบล็อก ซึ่งสิ้นเปลืองเวลาและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
     
  วัตถุประสงค์ แห่งการพิมพ์ของชาวจีน มิได้เป็นการขยายตัว
หรือเผยแพร่วิทยาการเหมือนกับประเทศทางตะวันตก แต่เป็นการพิมพ์เพื่ออนุรักษ์ คัมภีร์ หรือบทกวีเอาไว้เท่านั้น
     
   ดังนั้น พัฒนาการด้านการพิมพ์ที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้นจึงกลับไปปรากฏทางประเทศตะวันตกและมีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
 
 
 
 

ประวัติการพิมพ์ | วิวัฒนาการพิมพ์   | การพิมพ์ประเทศตะวันตก  | การพิมพ์ประเทศตะวันออก  | การพิมพ์ในประเทศไทย