|
|
|
แม้ว่าประเทศไทย
จะอยู่ใกล้กับประเทศจีน แต่ในด้านการพิมพ์แล้ว การพิมพ์ของไทย กลับได้รับอิทธิพล
และรูปแบบการพิมพ์จากประเทศทางตะวันตกมากตั้งแต่ต้น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
ในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. 2205 (ค.ศ. 1662) โดยมิชันนารีฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาสอนศาสนาในสมัยนั้น
จากจำนวนบาทหลวงที่เข้ามายังประเทศไทยมีสังฆราชองค์หนึ่งชื่อ ลาโน (Mgr
Laneau) ได้ริเริ่มแต่ง และพิมพ์หนังสือคำสอนทางคริสต์ศาสนาขึ้นนัยว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพอพระทัยการพิมพ์ตามวิธีฝรั่งของสังฆราชลาโน
ถึงกับทรงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรี เป็นส่วนของหลวงอีกโรงพิมพ์หนึ่งต่างหาก
(อำไพ จันทร์จิระ, 2512 : 73-74) และต่อมาภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระเพทราชา ได้ขับไล่บาทหลวงฝรั่งเศสออกจากราชอาณาจักรสยาม กิจการพิมพ์ในสมัยอยุธยาจึงหยุดชะงัก
และไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการพิมพ์หลงเหลืออยู่
|
|
|
|
การพิมพ์สมัยกรุงธนบุรี
เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (ฟ. ฮีแลร์, 2513 : 36) ได้กล่าวถึงการพิมพ์ในสมัยนั้นว่า
ในสมัยพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี เมื่อบ้านเมืองเป็นปกติแล้ว บาทหลวงคาทอลิก
ชื่อคาร์โบล ได้กลับเข้ามาสอนศาสนา จัดตั้งโรงพิมพ์ และพิมพ์หนังสือขึ้นที่วัดซันตาครูส
ตำบลกุฎิจีน จังหวัดธนบุรี หนังสือฉบับนั้นลงปีที่พิมพ์ว่าเป็น ปี
ค.ศ. 1796 (พ.ศ. 2339) ซึ่งคาบเกี่ยวมาถึงรัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และสันนิษฐานได้ว่า แม่พิมพ์คงใช้วิธีการแกะแม่พิมพ์ไม้เป็นหน้า ๆ
มากกว่าการใช้ตัวเรียงพิมพ์โลหะ
ในปี พ.ศ. 2356 (ค.ศ. 1813) ได้มีการหล่อตัวพิมพ์เป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยนางจัดสัน (Nancy Judson) ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกัน
และเข้ามาดำเนินกิจการทางศาสนาในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า นางมีความสนใจภาษาไทยจากเชลยชาวไทยในพม่า
และได้ดำเนินการหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาตัวแม่พิมพ์ภาษาไทยชุดนี้ได้ถูกนำไปยังเมืองกัลกัตตา
ประเทศพม่า และมีผู้ซื้อต่อโดยนำมาไว้ที่เมืองสิงคโปร์ นักบวชอเมริกันได้ซื้อตัวพิมพ์และแท่นพิมพ์ดังกล่าวแล้วนำมาสู่เมืองไทยอีกทีหนึ่ง
โดยมิชชันนารีคณะ American Board of Commissioners for Foreign Missions
(กำธร สถิรกุล, 2515 : 198)
|
|
|
|
การหล่อตัวพิมพ์ในประเทศไทย
หมอบรัดเลย์ (Dr.Dan Beach Bradley) ชาวอเมริกัน นับได้ว่าเป็นบุคคลแรกที่ได้กระทำขึ้น
โดยหมอบรัดเลย์รู้สึกว่าตัวพิมพ์ไทยแบบเดิมมีลักษณะที่ไม่สวยงาม จึงได้คิดประดิษฐ์ตัวพิมพ์ขึ้นใหม่ให้น่าอ่านกว่าเดิม
และทำได้ สำเร็จในปี พ.ศ. 2384 (ค.ศ. 1841) โดยขั้นแรกยังหล่อตัวพิมพ์เองไม่ได้
ต้องสั่งช่างหล่อเข้ามาจากสิงคโปร์ (วัลลภ สวัสดิวัลลภ,
2527 : 109)
สำหรับการพิมพ์หนังสือขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทยนั้น
บาทหลวงชาร์ล โรบินสัน (Reverand Robinson) มิชันนารีอเมริกัน ได้จัดพิมพ์ขึ้น
จากแท่นพิมพ์ที่ทำด้วยไม้และแม่พิมพ์หิน (รวมทั้งตัวพิมพ์
ซึ่งนำเข้ามาจากสิงคโปร์ หนังสือฉบับนี้มี 8 หน้า เกี่ยว
กับบัญญัติ 10 ประการ(Ten Commandments) พิมพ์แล้วเสร็จเมื่อวันที่
3 มิถุนายน พ.ศ. 2379 (ค.ศ. 1836)
(อำไพ จันทร์จิระ, 2516 : 88-89)
หมอบรัดเลย์เข้ามาเมืองไทย ในตอนแรกมีความตั้งใจที่จะมาเผยแพร่คริสต์ศาสนา
โดยอาศัยการนำวิธีการแพทย์ สมัยใหม่มาเป็นเครื่องจูงใจ ซึ่งหมอบรัดเลย์ก็ได้นำวิชาการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาหลายอย่างเช่น
การปลูกฝี การทำหนองฝี การฉีดยา การใช้ยาสลบในการผ่าตัด การตรวจรักษาตามวิชาการแพทย์สมัยใหม่
แต่เมื่อมาอยู่
เมืองไทย ได้ระยะหนึ่ง และได้ริเริ่มจับงานพิมพ์ หมอบรัดเลย์กลับมาสนใจเรื่องการพิมพ์โดยได้ดำเนินการธุรกิจ
ด้านการพิมพ์มากมายหลายอย่างขึ้นในเมืองไทยจนแทบจะพูดได้ว่าได้เริ่มต้นงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับการพิมพ์ใน
เมืองไทย อาทิ |
พ.ศ.
2382 ได้ให้โรงพิมพ์มิชชันนารีอเมริกันรับจ้างพิมพ์หมายประกาศห้ามสูบฝิ่น
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จ้าง พิมพ์จำนวน
9,000 ฉบับ นับว่าเป็นเอกสารทางราชการชิ้นแรกที่จัดพิมพ์ขึ้น
4 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ได้ออกหนังสือพิมพ์เป็นฉบับแรกขึ้นในเมืองไทย
ซึ่ง บางกอกรีเคอร์ดอร์ (Bangkok Recorder) ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า
จดหมายเหตุอย่างสั้น ออกเดือนละ 2 ฉบับ
15 มิถุนายน พ.ศ. 2404 หมอบรัดเลย์ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัยและจัดพิมพ์ขายขึ้นเป็นครั้งแรก
นับว่าเป็นการเริ่มต้นของการซื้อขายลิขสิทธิ์ และการพิมพ์หนังสือเล่มออกจำหน่ายในเมืองไทย
(กำธร สถิรกุล, 2515 : 204)
หมอบรัดเลย์ได้ถึงแก่กรรมในเมืองไทย เมื่อวันที่
23 มิถุนายน พ.ศ. 2414 นับได้ว่าเป็นผู้เริ่มต้นกิจการพิมพ์ขึ้นในเมืองไทยอย่างเป็นระบบ
และเป็นรากฐานแก่การพิมพ์ของไทยมาจนปัจจุบัน สมควรยกย่องว่าเป็น
"บิดาแห่งการพิมพ์ไทย" (ศิริพงษ์ พยอมแย้ม,
2530 : 9)
|
|
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
อาจกล่าวได้ว่า เป็นคนไทยพระองค์แรกที่เริ่มต้นกิจการพิมพ์ของไทย ครั้งที่ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ
และทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารได้ทรงดำรงจะนำการพิมพ์มาใช้เผยแพร่พระพุทธศาสนา
โปรดใช้สั่งเครื่องพิมพ์มาตั้งไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และให้แกะตัวพิมพ์เป็นอักษรอริยกะ
ใช้พิมพ์หนังสือสอนศาสนา เช่น พระปาติโมกข์บ้าง หนังสือสวดมนต์บ้าง
โดยมีพระสงฆ์ในวัดเป็นผู้จัดพิมพ์
ครั้นเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2394 เจ้าฟ้ามงกุฎได้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังคงสนพระทัย และทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพิมพ์อยู่เช่นเดิม
พระองค์ได้จัดตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในพระมหาราชวัง ขนานนามว่า โรงพิมพ์อักษรพิมพ์การและได้พิมพ์ผลงานชิ้นแรกออกมาคือ
หนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ. 2401
(วัลลภ
สวัสดิวัลลภ, 2527 : 121-123)
พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงนับว่าสำคัญมากต่อกิจการพิมพ์
และการพิมพ์หนังสือของเมืองไทย นับจากนั้นเป็นต้นมาการ พิมพ์ไทยได้เริ่มเข้าสู่ยุคพัฒนาและขยายเป็นอุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างแพร่หลายมาเป็นลำดับ
และมีความสำคัญในการส่งเสริม งานด้านการศึกษา วัฒนธรรม พาณิชยกรรม
และอุตสาหกรรมให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน (สูจิบัตรงานวันการพิมพ์ไทย,2543
: 105)
|
|
|
|
|
|
|
|